39 โรคที่ใช้กัญชาได้จริงหรือไม่

เช็กให้ชัวร์! 39 โรคที่ใช้กัญชาได้จริงหรือไม่? และกัญชาใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง

การรักษาอาการโรคต่าง ๆ ด้วยกัญชาหรือใช้สารสกัดจากกัญชานั้น ถือเป็นการรักษาทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาอย่างแพร่หลาย แม้ว่าสมัยนั้นกัญชาจะถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติด แต่ก็ยังมีชาวบ้านยังคงนำกัญชามาใช้เป็นยารักษาอาการบางอย่างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน กระทั่งได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณกัญชา จึงทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ถึงข้อดีของการนำกัญชามาใช้รักษาทางการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับในวงการทางการแพทย์ ประเทศไทยเองก็ได้มีการปลดกัญชาออกจากประเภทสารเสพติด โดยจะอนุญาตให้ปลูกและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่ากัญชาสามารถรักษา 39 โรค ซึ่งเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หาคำตอบได้ที่บทความนี้

กัญชาสามารถรักษาได้ 39 โรคจริงไม่?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือได้รับข้อความเกี่ยวกับสรรพคุณกัญชาทางการแพทย์มากมาย และหนึ่งในนั้นคือ 39 โรคที่ใช้กัญชาได้นั้นไม่เป็นความจริงเลย โดยทางกรมการแพทย์ได้ออกมายืนยัน กัญชาไม่ใช่ยารักษาโรคได้ครอบจักรวาล แม้ว่ากัญชาจะมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย สามารถนำไปใช้รักษาอาการโรคต่าง ๆ ได้ แต่กัญชาก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลรักษาได้ทุกอย่าง เนื่องจากการใช้กัญชารักษาโรคจะมีการศึกษาวิจัยอยู่ตลอดเลย และมีเพียงไม่กี่โรคเท่านั้นที่มีผลการวิจัยรองรับว่าสามารถใช้กัญชารักษาโรคได้จริง

39 โรคที่ใช้กัญชารักษาได้ ไม่จริง

โรคที่สามารถรักษาด้วยกัญชาโดยมีงานวิจัยรองรับ

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของกัญชาเพื่อทางการแพทย์นั้น มีเพียงแค่ไม่กี่โรคเท่านั้น ที่สามารถรักษาได้ด้วยกัญชา ได้แก่

  • โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยาในการรักษา
    กัญชาจะมีสาร CBD ที่ช่วยลดการยึดเกร็งของกล้ามเนื้อ และหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันระบบประสาท เหมาะสำหรับผู้ป่วยลมชักที่ดื้อยาจากการรักษามาตรฐาน
  • ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
    สารสกัดจากกัญชาจะสามารถช่วยลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งที่ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมส่วนใหญ่จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร และอาเจียนร่วมอยู่ จึงมีการใช้กัญชาเพื่อลดอาการเหล่านี้ และได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
  • อาการผลข้างเคียงจากเคมีในผู้ป่วยมะเร็ง
    สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดนั้น บางคนอาจจะเกิดอาการแพ้เคมีบำบัด ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหารจนไม่อยากรับประทานอะไรเลย ทำให้ร่างกายอ่อนแรง การใช้สารสกัดกัญชาจึงสามารถช่วยทำให้อาการเหล่านี้ลดลงได้ และทำให้เกิดอาการอยากอาหารมากขึ้น
  • รักษาภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
    สารสกัดกัญชาสามารถช่วยรักษารักษาภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล กัญชาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ในการรักษา

โรคที่สามารถรักษาด้วยกัญชาแต่ขาดข้อมูลวิจัยรองรับ

นอกจากนี้ โรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่คาดการณ์กันว่าจะสามารถใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์รักษาได้ เพียงแต่ว่ายังขาดข้อมูลการศึกษางานวิจัยในด้านของความปลอดภัยและประสิทธิผล ได้แก่

  • โรควิตกกังวล
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคปลอกประสาทอักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือโรคอื่น ๆ ที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง
  • ช่วยลดอาการภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบต่อจิตใจ
  • การเพิ่มความอยากอาหาร และลดการสูญเสียน้ำหนักในผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้

การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์อย่างไรให้ปลอดภัย

กัญชา เป็นพืชที่มีทั้งประโยชน์และโทษ การนำกัญชามาสกัดเพื่อใช้รักษาอาการโรคต่าง ๆ นั้นก็มีทั้งให้คุณและโทษหากใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้ปลอดภัย มีดังนี้

  • ควรใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้กัญชา
  • ผู้ที่ไม่เคยใช้สารสกัดกัญชามาก่อน ควรเริ่มใช้ในปริมาณน้อยที่สุดก่อน หากเกิดยังไม่ได้ผล จึงค่อยเพิ่มปริมาณกัญชาทีละน้อย ๆ
  • การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สามารถใช้ได้นั้นก็ต่อเมื่อมีการใช้รักษาโรคอื่น ๆ ไม่ได้ผล จึงเลือกที่จะรักษาด้วยกัญชา หรือใช้กัญชาร่วมกับยารักษาแผนปัจจุบัน เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
  • กรณีที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยารักษาโรคประจำตัว หากต้องการใช้สารสกัดกัญชาก็จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

จากข้อมูลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า 39 โรคที่ใช้กัญชาได้ เป็นข้อมูลที่ไม่มีความจริงเลย เนื่องจากกัญชาใช้รักษาโรคได้เพียงแค่ไม่กี่โรคเท่านั้น ดังนั้น ถ้าใครคิดเลือกรักษาโรคด้วยสารสกัดกัญชา จึงควรศึกษาข้อมูลให้แน่ชัด หรือปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง ติดตามอ่านบทความน่ารู้ที่เกี่ยวกับน้ำมันกัญชาและกัญชงได้ที่เว็บไซต์ Greenbird

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *