กัญชาและกัญชงแตกต่างกันอย่างไร?

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีประกาศปลดล็อกพืชกัญชาและกัญชงออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มาได้สักระยะแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นยังคงมีประเด็นมากมายให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราส่วนระหว่าง THC และ CBD ที่เหมาะสมในการรักษาโรคอย่างปลอดภัย กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการใช้กัญชากัญชงของประชาชน ประเด็นอันตรายของกัญชากัญชงจากกลุ่มเยาวชน รวมถึงการใช้กัญชงกัญชาในอาหารและเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายในท้องตลาด แต่หนึ่งประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับคนส่วนใหญ่  โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และการแพทย์คือ ความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชง เนื่องจากกัญชาและกัญชงมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอกคล้ายคลึงกันมาก หากมองเผิน ๆ อาจคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน อาจส่งผลเสียถ้ามีเลือกไปใช้งานผิดประเภท เพราะกัญชาและกัญชงมีปริมาณ THC และ CBD แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในความจริงถึงแม้ลักษณะภายนอกของกัญชาและกัญชงเหมือนกันอย่างไร แต่มีความแตกต่างที่สามารถใช้เป็นการหลักเกณฑ์ในการจำแนกกัญชาและกัญชงได้ไม่ยาก

ประวัติการใช้งานกัญชาและกัญชง

ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่ากัญชาและกัญชงเหมือนกันอย่างไรหรือมีจุดแตกต่างที่ตรงไหนบ้างนั้น ควรรู้ก่อนว่ากัญชาและกัญชงเป็นพืชมีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศักราช โดยพืชทั้งสองชนิดเป็นพืชในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จากนั้นจึงกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย พื้นที่เขตประเทศเปอร์เซีย ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พื้นที่เขตเชิงเขาหิมาลัย และเขตพื้นที่ของประเทศจีน จนกระทั่งในสมัยโรมันมีหลักฐานบันทึกไว้ว่ามีการนำกัญชาและกัญชงจากทวีปเอเชียมายังเขตพื้นที่ประเทศอิตาลี ทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในโซนยุโรปและทั่วโลกในเวลาต่อมา สำหรับการใช้ในอดีตนั้นถือว่าไม่ค่อยมีความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชง เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายกล่าวถึงการใช้ประโยชน์กัญชาและกัญชงในอาหารคน อาหารสัตว์ สิ่งเสพติดเชิงสันทนาการ เชือก เสื้อผ้า กระดาษ และการรักษาโรคในหลายประเทศ โดยในส่วนของรายงานอย่างเป็นทางการด้านการแพทย์ที่มีการใช้กัญชาและกัญชงนั้นจะเริ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังจากมีการค้นพบสาร Tetrahydrocannabinol หรือ thc และ Cannabidiol หรือ cbd แต่เนื่องจาก thc เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทจึงทำให้กัญชาและกัญชงมีการควบคุมทางกฎหมายมากขึ้น

ความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชง

หากถามว่ากัญชาและกัญชงเหมือนกันอย่างไร คำตอบคือ เพราะพืชทั้งสองชนิดมีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกันมาก จนทำให้ในอดีตกัญชาและกัญชงมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ Cannabis sativa L. และถูกจัดเป็นพืชในวงศ์ตำแย (Urticaceae) เหมือนกัน แต่หลังจากมีการศึกษาอย่างละเอียดมากขึ้นทำให้เห็นว่ากัญชงและกัญชามีความแตกต่างจากพืชในวงศ์ตำแยอื่น ๆ จึงได้มีการแยกพืชทั้ง 2 ชนิดออกมาอยู่ในวงใหม่คือ Cannabidaceae จนกระทั่งในปี 1998 จึงมีการจำแนกกัญชาและกัญชงออกจากกัน โดยกัญชามีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Cannabis sativa L. subsp. indica (Lam.) E.Small & Cronquist หรือในเอกสารทางวิชาการนิยมใช้ใช้ Cannabis sativa L. subsp. Indica ชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า Marijuana ส่วนกัญชงคือ Cannabis sativa L. subsp. Sativa ชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า Hemp สำหรับความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชงจะแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อโตเต็มที่ โดยแสดงความแตกต่างดังนี้

1. ความสูงลำต้นและการแตกกิ่งก้าน

ลักษณะแรกที่สามารถใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชงได้อย่างชัดเจนคือ ความสูง โดยกัญชาจะมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร บางสายพันธุ์อาจมีการแตกทรงพุ่มเตี้ย และแตกกิ่งก้านมากกว่ากัญชง ส่วนกัญชงมีลักษณะต้นเรียวกว่าและสูงมากกว่า 2 เมตร แต่จะแตกกิ่งก้านน้อยกว่ากัญชา

2. ลักษณะเปลือกและเส้นใย

ในส่วนของลักษณะลำต้นถ้าเป็นกัญชาเปลือกจะไม่เหนียว ลอกยากกว่า เส้นใยมีคุณภาพต่ำ ในขณะที่กัญชงเปลือกเหนียวกว่า แต่ลอกง่ายกว่า เส้นใยดี และมีคุณภาพสูง

3. สีและลักษณะของใบ

ลักษณะของใบกัญชามีสีเขียวจัด เล็ก แคบ ยาว เรียงตัวชิดกัน มีแฉกประมาณ 5-7 แฉก ใบประดับช่อดอกเป็นกลุ่มแน่นมียางเหนียวเมื่อสัมผัส ส่วนกัญชงใบจะมีสีเขียวอมเหลือง ใบใหญ่ เรียงตัวค่อนข้างห่าง มีแฉกประมาณ 7-11 แฉก และไม่มียางเหนียวติดมือ

4. การออกดอก

หากเป็นต้นกัญชาจะออกดอกเมื่อต้นมีอายุเกินกว่า 3 เดือน โดยที่ช่อดอกจะมียางมาก ส่วนกัญชงจะออกดอกเมื่อมีอายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป ส่วนช่อดอกไม่มียางหรือมียางน้อย

5. เมล็ดและคุณสมบัติของเมล็ด

สำหรับเมล็ดของกัญชงและกัญชาไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่จะพบความแตกต่างที่คุณสมบัติของเมล็ดและน้ำมันที่สกัดได้ โดยในเมล็ดกัญชงจะมีโปรตีนสามารถใช้แทนถั่วเหลือง แป้ง และมีน้ำมันโอเมก้า 3 ช่วยบำรุงสมองและหัวใจ ส่วนเมล็ดกัญชานั้นไม่มีจึงไม่นิยมนำมาทำอาหาร แต่น้ำมันที่ได้มีคุณสมบัติในการรักษาโรค

6. ปริมาณสารสำคัญ

ในใบและช่อดอกของกัญชาจะมีปริมาณ THC มากกว่า 1% ปริมาณ CBD ต่อ THC น้อยกว่า 2 และเปอร์เซ็นต์ไฟเบอร์สูงสุด 15% ในขณะที่กัญชงจะมีปริมาณ THC น้อยกว่า 1% ปริมาณ CBD ต่อ THC มากกว่าหรือเท่ากับ 2 และเปอร์เซ็นต์ไฟเบอร์สูงสุด 35%

จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าจะมีลักษณะภายนอกจากที่คล้ายคลึงกันมาก แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชงได้ทั้งจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสารสำคัญ ซึ่งลักษณะเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดจำแนกกัญชาและกัญชงไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 

แนวโน้มการใช้ประโยชน์กัญชาและกัญชงในประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าหลังจากมีการปลดล็อกกัญชากัญชงเต็มรูปแบบในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การตื่นตัวของผู้ประกอบการไทยที่ให้ความสนใจนำกัญชาและกัญชงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายได้ระบุส่วนประกอบของกัญชาและกัญชงที่ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดและสามารถนำมาใช้ประโยชน์คือ น้ำมัน เปลือก ลำต้น เส้นใยราก ใบจริง ใบพัด กิ่ง ก้าน และเมล็ดกัญชง แต่ถ้าเป็นสารสกัดและกากของกัญชากัญชงต้องมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% ในขณะที่ช่อดอกกัญชากัญชงและเมล็ดกัญชานั้นยังถูกจัดเป็นยาเสพติด

สำหรบการพัฒนาพืชกัญชาหลายคนคงเห็นแล้วว่าทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่างมุ่งเน้นสนับสนุนการวิจัยด้านการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับโรคร้าย ซึ่งข่าวดีล่าสุดของการใช้ประโยชน์จากกัญชาคือ ทางองค์การเภสัชกรรมหรือ GPO ได้พัฒนาน้ำมันกัญชาและบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3 รายการ ได้แก่

  • ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูง สำหรับรักษาภาวะคลื่นไส้จากการทำเคมีบำบัด บรรเทาอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และอาการปวดระดับกลางหรือระดับรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
  • ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD สูง สำหรับเป็นรักษาเสริมให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และอาการปวดระดับกลางหรือระดับรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
  • ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และ THC เท่ากัน สำหรับเป็นรักษาเสริมให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และอาการปวดระดับกลางหรือระดับรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันมีหน่วยงานบริการทางการแพทย์ของรัฐที่สามารถให้บริการยากัญชาทั้ง 3 รายการแล้วจำนวน 893 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยากัญชาที่เหมาะสมต่อร่างกายและภาวะโรคที่เป็นอยู่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นภาคเอกชนมากมายยังแข่งขันพัฒนาสินค้าบริโภคที่มีส่วนผสมของ cbd หรือสารสกัดจากกัญชาออกวางจำนวนมากมาย ทั้งน้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำผลไม้ ขนม สบู่ เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ยาสีฟัน ในส่วนของกัญชงเองนั้นก็ถูกจัดให้เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยที่จะถูกส่งไปช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้ทางภาครัฐจึงมีได้ออกระเบียบอนุญาตให้สามารถใช้น้ำมันกัญชงหรือสารสกัดกัญชงจากเมล็ดกัญชงในเครื่องสำอางได้มาตั้งแต่ปี 2021 โดยขณะนี้ได้เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและครีมรักษาสิวออกวางขายในท้องตลาดแล้วเช่นเดียวกัน