วิธีปลูกกัญชา และเรื่องที่มือใหม่หัดปลูกกัญชาควรรู้

ต้องยอมรับว่าหลังจากการปลดล็อกกัญชาอย่างเป็นทางการในประเทศไทย นอกจากเรื่องการใช้ประโยชน์จากสารสกัดหรือสารสำคัญในทางการแพทย์แล้ว อีกเรื่องที่คนไทยไม่น้อยให้ความสนใจไม่แพ้กันนั้นก็หนีไม่พ้นวิธีการปลูกกัญชา เพราะถึงแม้ว่ากัญชาจะเป็นพืชที่รู้จักกันมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายของประเทศไทยในอดีต ทำให้ไม่สามารถปลูกใช้งานทางการแพทย์หรือปลูกเป็นพืชสมุนไพรตามครัวเรือนได้เหมือนกับพืชสมุนไพรทั่วไป เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้อย่างเสรี  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะให้ความสนใจและตั้งใจปลูกกัญชาไว้ใช้ประโยชน์ด้วยตัวเอง ข้อดีคือ รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมและอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาไว้ใช้ดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งทางรัฐได้อนุญาตให้ประชาชนปลูกไว้ใช้ประโยชน์ได้หลังคาเรือนละไม่เกิน 10 ต้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ต้องจดแจ้งและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ทั้งระบบ Andriod หรือ iOS จดแจ้งตามวัตถุประสงค์แล้วรอรับเอกสารจดแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนกรณีต้องการปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ต้องมีการขออนุญาตปลูกกับกระทรวงสาธารณสุขผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านทางกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ได้แบ่งกลุ่มการปลูกกัญชาทางเศรษฐกิจไว้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • กลุ่มการปลูกขนาดเล็ก ปลูกกัญชาน้อยกว่า 5 ไร่ โดยกลุ่มนี้จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมหรือเสียค่าธรรมเนียมน้อยสุด หรือไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย
  • กลุ่มการปลูกขนาดกลาง ปลูกกัญชาตั้งแต่ 5 – 20 ไร่ มีกำหนดให้ต้องขออนุญาตเพิ่มเติม
  • กลุ่มขนาดใหญ่ ปลูกกัญชามากกว่า 20 ไร่ขึ้นไป ถือว่าเป็นการปลูกเพื่อหวังผลกำไร จึงต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมให้กับภาครัฐสูงกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับการปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย หรือสาขาวิชาชีพทางการแพทย์อื่นที่เกี่ยวข้องจะเข้าเกณฑ์เดียวกับกลุ่มการปลูกขนาดเล็ก ส่วนการปลูกเพื่อจำหน่ายเมล็ดและกิ่งพันธุ์ ผู้ต้องการปลูกต้องขออนุญาตจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช

วงจรชีวิตของพืชสกุลกัญชา

การเจริญเติบโตของเมล็ดไปสู่ต้นกัญชา

ก่อนเริ่มปลูกกัญชาหรือกัญชงเรื่องแรกที่ควรศึกษาอย่างละเอียดคือ วงจรชีวิตของพืชในสกุลกัญชา เนื่องจากแต่ละระยะของการเจริญเติบโตของกัญชามีความต้องการน้ำ ระยะเวลา และแสงแตกต่างกัน ซึ่งการศึกษาวงจรชีวิตของกัญชาและกัญชงจะช่วยให้ดูแลต้นกัญชาและกัญชงได้อย่างถูกต้อง สำหรับวงจรชีวิตของพืชสกุลกัญชาสามารถแบ่งการเจริญเติบโตของกัญชาได้ 2 ระยะ ดังนี้

การเจริญทางลำต้นและใบ หรือ Vegetative Growth

เมล็ดกัญชา

  1. ระยะการงอกของเมล็ด (Germination Stage) ระยะเวลา 2 – 10 วัน ระยะนี้เริ่มต้นเมื่อเมล็ดได้รับน้ำและความชื้นเพียงพอที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโต หลังจากนั้นเมล็ดจะเกิดการพองตัวและฉีกขาด ทำให้รากแก้วและใบเลี้ยงจำนวน 1 คู่ งอกออกมา สำหรับระยะนี้กัญชาต้องการปริมาณแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน
  2. ระยะต้นกล้า (Seedling Stage) ระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ เป็นระยะที่กัญชาจะมีการสร้างใบจริงหรือ Fan Leave ออกมาประมาณ 4-5 คู่ สำหรับระยะนี้กัญชาต้องการปริมาณแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตามระยะต้นกล้าเป็นระยะที่มีความอ่อนแอต่อเชื้อราศัตรูพืชและสภาพแวดล้อม จึงต้องหมั่นตรวจสอบวัสดุปลูกอย่างสม่ำเสมอไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังเพื่อป้องกันการเกิดโรค
  3. ระยะการเจริญทางลำต้นและใบ (Vegetative Stage) ระยะเวลา 4 – 6 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 15 สัปดาห์ เป็นระยะที่กัญชาต้องการแร่ธาตุ โดยเฉพาะไนโตรเจน และน้ำปริมาณสูง เพราะกัญชามีการเจริญเติบโตทั้งทางสูงและทรงพุ่ม สำหรับระยะนี้กัญชาจึงต้องการปริมาณแสง 18 ชั่วโมงต่อวัน แนะนำว่าควรตกแต่งกิ่งกัญชาในระยะนี้เพื่อกระตุ้นให้ผลผลิตสูงขึ้นเมื่อถึงระยะออกดอก

การเจริญทางการแพร่ขยายพันธุ์ หรือ Reproductive Growth

ปลูกต้นกัญชา

  1. ระยะก่อนออกดอก (Pre-Flowering Stage) ระยะเวลา 1 – 3 สัปดาห์ เป็นระยะที่มีการสร้างฮอร์โมนให้สร้างดอกบริเวณซอกตา จึงทำให้เป็นระยะที่สำคัญมาก เพราะผู้ปลูกสามารถแยกทำลายต้นกัญชาเพศผู้ ออกจากต้นกัญชาเพศเมียได้ในระยะนี้ในกรณีที่ต้องการให้เกิดช่อดอกมากขึ้น โดยต้นกัญชาเพศผู้จะเห็นอับเกสรเพศผู้เป็นกระเปาะกลม ส่วนตันกัญชาเพศเมียจะมีเกสรเพศเมียเป็นเส้นสีขาวออกจากชั้นกลีบเลี้ยง สำหรับระยะนี้ต้นกัญชาต้องการปริมารแสง 12 ชั่วโมงต่อวัน
  2. ระยะออกดอก (Flowering Stage) ระยะเวลา 7 – 14 สัปดาห์ เป็นระยะที่ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตส่วนลำต้นและใบลดลง เพราะมีการสร้างช่อดอกและผลิตที่บริเวณ Trichome (ส่วนที่มีการเก็บสารสำคัญของกัญชา) แต่หลังจากนั้นจะมีการเจริญของดอกช้าลง ใบเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง เกสรตัวเมียเปลี่ยนจากขาวเป็นแดงหรือส้ม พร้อมทั้งเหี่ยวลง และ Trichome เปลี่ยนจากขาวเป็นสีนมและกลายเป็นสีอำพันใน สำหรับระยะนี้ต้นกัญชาต้องการปริมารแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
  3. ระยะผลิตเมล็ด (Seed Set) ระยะเวลา 6 สัปดาห์ ในกรณีที่ต้องการให้กัญชาติดเมล็ด สิ่งที่ผู้ปลูกควรทำคือการไม่ทำลายต้นกัญชาเพศผู้ในระยะก่อนออกดอก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์จะเข้าสู่กระบวนการผสมเกสร เมื่อผ่านระยะเวลา 6 สัปดาห์แล้วช่อดอกจะเริ่มสุก เปลือกหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลและแตกออกจึงสามารถเก็บเมล็ดได้ โดยควรเริ่มเก็บจากด้านล่างของช่อดอก สำหรับระยะนี้ต้นกัญชาต้องการปริมารแสง 12 ชั่วโมงต่อวัน

การปลูกกัญชา

ต้นกล้ากัญชา

สำหรับการปลูกกัญชาสามารถปลูกได้ทั้งจากการเพาะเมล็ดกัญชาหรือตัดชำจากต้นกล้า ซึ่งแต่ละวิธีมีขั้นตอนดังนี้

การเพาะกัญชาจากเมล็ด

เมล็ดกัญชา

สามารถเพาะได้จากทั้งเมล็ดทั่วไปที่เกิดจากผสมของต้นกัญชาเพศผู้และต้นกัญชาเพศเมีย เมล็ดเพศเมียที่เกิดจากต้นกัญชากะเทย และเมล็ดไม่ไวต่อแสงที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ โดยวิธีนี้จะมีข้อดีตรงที่ได้ต้นกัญชาที่มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อม

  1. เริ่มต้นจากการนำเมล็ดกัญชาแช่น้ำเป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง โดยช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกเมล็ดกัญชาจะลอยขึ้นจากนั้นจะจมลง แต่หากแช่น้ำเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้ว เมล็ดไหนลอยแสดงว่ามีอัตราการงอกต่ำไม่เหมาะแก่การนำไปปลูกต่อ
  2. นำเมล็ดกัญชาที่แช่น้ำแล้วไปเพาะบนกระดาษเอนกประสงค์ที่พรมน้ำจนชุ่มโดยห้ามให้มีน้ำขัง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเมล็ดกัญชาเน่า เมื่อปลูกเรียบร้อยแล้วควรหมั่นตรวจสอบความชื้นอย่างสม่ำเสมออย่าให้แห้งจนเกินไป ประมาณ 1-2 วัน เมล็ดจะเริ่มออกราก
  3. เตรียมวัสดุปลูกในอัตราส่วนพีทมอส 60 ต่อเพอไรท์ 40 ในกระถางขนาด 2 นิ้ว ใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 อัตราส่วน 2 กรัมต่อกระถาง รดน้ำให้ชุ่มแล้ววางไว้ในภาชนะบรรจุน้ำ เพื่อให้วัสดุปลูกดูดน้ำ
  4. นำเมล็ดที่ออกรากแล้วใส่ในกระถาง ความลึก 2 เท่าของความกว้างของเมล็ด จากนั้นกลบเมล็ดให้มิด ดูแลด้วยการรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ต้นกัญชาจะใช้เวลาเติบโตเป็นต้นกล้าประมาณ 7-10 วัน

การเพาะต้นกล้าจากการตัดชำ

ตัดแต่งต้นกัญชา

วิธีนี้เป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมีข้อดีคือ ได้ต้นกัญชาที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นเดิมที่ตัดชำมา อีกทั้งยังลดระยะเวลาการปลูกได้อีกด้วย แต่ข้อเสียของการใช้วิธีปักชำต้นกัญชาที่ได้ไม่มีรากแก้วสำหรับดูดแร่ธาตุและน้ำ จึงอาจแข็งแรงไม่เท่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับวิธีในการเพาะต้นกล้าจากการตัดชำมีดังนี้

  1. นำต้นแม่พันธุ์ที่มีความสูงมากกว่า 12 นิ้ว มีตาใบอย่างน้อย 2 ใบ ตัดกิ่งห่างจากตาใบประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยตัดทำมุม 45 องศา จากนั้นนำไปแช่น้ำในทันที
  2. นำกิ่งพันธุ์ที่ได้มาตัดใบออกประมาณ 50% แล้วนำไปแช่ในน้ำยาเร่งราก
  3. นำกิ่งไปปักในกระถางที่มีวัสดุปลูก (อัตราส่วนเดียวกับการปลูกด้วยเมล็ด) ด้วยความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที
  4. ย้ายกระถางเก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท น้ำเปล่าลงบนกิ่งพันธุ์ และนำตั้งภายใต้แสงแดดวันละ 16 ชั่วโมงต่อวัน หลังจาก 7 วัน กิ่งชำจะเกิดราก
  5. เมื่อรากออกแล้วให้ปรับสภาพของต้นกัญชาด้วยการเปิดรูภาชนะระบายอากาศเป็นเวลา 3 วัน  ถ้าต้องการย้ายไปยังภาชนะปลูกที่ใหญ่ขึ้นได้ให้ตรวจสอบที่ก้นกระถางว่ามีรากหรือไม่ หากมีรากเรียบร้อยแล้วสามารถย้ายกระถางได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *